สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (28 มิ.ย.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2565 ของสหรัฐในวันนี้ รวมทั้งการประชุมประจำปีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่โปรตุเกสในสัปดาห์นี้
- ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 3.6 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,821.2 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 36.2 เซนต์ หรือ 1.71% ปิดที่ 20.806 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 5.3 ดอลลาร์ หรือ 0.59% ปิดที่ 905.6 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 3 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,861.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.54% แตะที่ 104.5050 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น
นาอีม อัสลาม นักวิเคราะห์จากบริษัท AvaTrade กล่าวว่า สัญญาทองคำร่วงลงหลังมีรายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนักในเดือนมิ.ย. แต่หลังจากนั้นสัญญาทองคำลดช่วงลบ และปิดตลาดขยับลงเพียงเล็กน้อย
ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทรุดตัวลงสู่ระดับ 98.7 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 100.0 จากระดับ 103.2 ในเดือนพ.ค. โดยผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า, สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1/2565 ของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งจะเป็นตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้าย ส่วนในการประมาณการครั้งที่ 1 นั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า GDP หดตัว 1.4% และในการประมาณการครั้งที่ 2 ระบุว่า GDP หดตัว 1.5%