สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ในวันพุธ (31 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 10.1 ดอลลาร์ หรือ 0.58% ปิดที่ 1,726.2 ดอลลาร์/ออนซ์ และตลอดเดือนส.ค. สัญญาทองคำร่วงลงทั้งสิ้น 3.1%
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 40.5 เซนต์ หรือ 2.21% ปิดที่ 17.882 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 5.1 ดอลลาร์ หรือ 0.61% ปิดที่ 827 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 8.90 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 2,078.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำร่วงหลุดจากระดับ 1,730 ดอลลาร์ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุด นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์กล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่เหนือระดับ 4% ภายในต้นปี 2566 และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ นางเมสเตอร์ส่งสัญญาณว่าเฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
การแสดงความเห็นของนางเมสเตอร์เป็นไปในทิศทางเดียวกับนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งกล่าวในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลเมื่อวันศุกร์ (26 ส.ค.) ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อฉุดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย และยังกล่าวด้วยว่าหลังจากเสร็จสิ้นการใช้มาตรการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ แม้ว่าทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่การที่เฟดมีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้บดบังปัจจัยบวกดังกล่าว เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทอง เนื่องจากทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 70.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 29.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%