ราคาทองวันนี้ ข่าวทองคำ

จับตา ธปท. คุม”เงินบาท” ใกล้ชิด หลังเดือนพ.ย.แข็งค่า 9% ฉุดราคาทองในประเทศร่วง

699

- Advertisement -

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นอีกช่วงที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างมาก โดยจากในช่วงต้นเดือนอยู่ที่ระดับ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ มาจนถึงขณะนี้มาอยู่ที่ระดับ 30.39 บาทต่อดอลลาร์ และเคยไปทำจุดแข็งค่าสุดที่  30.12 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการที่เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมา ได้ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในประเทศโดยตรง

มองว่าใน “ระยะสั้น” ค่าเงินบาทมีแนวโน้ม “อ่อนค่าลง” หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ของไทย แสดงความกังวลว่าสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์ อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงถึงท่าทีเกี่ยวกับมาตรการด้านอัตราแลกเปลี่ยนในวันศุกร์นี้ (20 พ.ย.) ซึ่งจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด  หากมาตรการที่ออกมารุนแรงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ อาจช่วยสกัดการแข็งค่าของค่าเงินบาทได้ แต่ในทางกลับกันหากมาตรการไม่รุนแรงนัก เชื่อว่าเงินบาทจะยังมีโอกาสแข็งค่าในระยะถัดไปจากปัจจัยต่างประเทศ

ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG กล่าวกับ GoldAround.com

หากจะมาพิจารณาในแง่ของปัจจัยต่างประเทศนั้น ประเมินว่าค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อเนื่องในปีหน้า (ปี 2021) ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น หลังตลาดเปิดรับความเสี่ยง หรือ Risk On ภายหลังการเลือกตัง ปธน.สหรัฐ และมีความคืบหน้าพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด -19

ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนฟิวเจอร์ส

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG กล่าวว่า ในทางเทคนิค หากเงินบาทยืนเหนือ 30.22 – 30.08 บาทต่อดอลลาร์ มีแนวโน้มที่จะกลับไปอ่อนค่าลงทดสอบ โซน 30.56 – 30.61 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากไม่สามารถกลับไปอ่อนค่ากว่าระดับ 30.56 – 30.61 บาทต่อดอลลาร์ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเงินบาทแข็งค่าทะลุ 30.22-30.08 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีโอกาสอย่างมากที่ค่าเงินบาท จะแข็งค่าต่อไปและอาจหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ได้

- Advertisement -

มาดูภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในระหว่างการซื้อ-ขาย ของปี 2020 พบว่าค่าเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าสุดแตะระดับ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงเดือน เม.ย. แต่หลังจากนั้น ค่าเงินบาทก็กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยลงมาใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงเดือนพ.ย. ซึ่งคิดเป็นการแข็งค่าเกือบ 9%

ทั้งนี้ค่าเงินบาทได้รับแรงหนุนจากทางด้านปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ กระแสเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตร หลังชัยชนะของ”โจ ไบเดน” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้ตลาดเปิดรับความเสี่ยง หรือ Risk On จากการประเมินว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีแนวโน้มคลายความตึงเครียดลง ทำให้สินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียได้รับแรงหนุนจนกระตุ้นกระแสเงินทุนไหลเข้า โดยเห็นได้จากนักลงทุนต่างชาติ ที่กลับเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยถึง 49,297 ล้านบาทในช่วงวันที่ 2-18 พ.ย. ซึ่งถือเป็นการซื้อสุทธิในรายเดือนที่สูงที่สุดในปีนี  

นอกจากนั้นยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้น หลังจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่อง 10 เดือนติดต่อกันตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. มูลค่ารวมเกือบ 3 แสนล้านบาทผอย่างไรก็ดี ต่างชาติเริ่มกลับมา“ซื้อสุทธิ” ในตลาดหุ้นไทยในวันที่ 9-18 พ.ย. มูลค่ารวมเกือบ 3 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในวันที่ 10 พ.ย.มีการเข้ามาซื้อสุทธิถึง 18,958 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเข้าซื้อรายวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ

ที่มา : GoldAround.com

- Advertisement -

Leave a Reply