โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
ความแข็งแกร่งของราคาทองคำและแรงซื้อน้อย ระยะสั้นราคาเคลื่อนไหวในกรอบ แนะนำรอจังหวะการอ่อนตัวลงของราคาค่อยเข้าซื้อ หรือ หากราคาทองคำไม่สามารถยืน 1,883-1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ให้แบ่งทองคำออกขายเพื่อทำกำไรบางส่วน
แนวรับ : 1,861 1,849 1,834 แนวต้าน : 1,885 1,899 1,912
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลงอีก 10.96 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำยังคงได้รับแรงกดดันจากความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซียต้าน COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวานนี้ บริษัท Pfizerของสหรัฐ และ BioNTech ของเยอรมนี แถลงวานนี้ว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นสุดท้ายบ่งชี้ว่า วัคซีนต้านCOVID-19 มีประสิทธิภาพ 95% และทางบริษัทจะยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน (emergency use authorization -EUA) ต่อ FDA ของสหรัฐในอีกไม่กี่วัน ทางด้านนาย Ugur Sahin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BioNTech คาดว่า FDA ของสหรัฐอาจอนุมัติการใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินได้ในช่วงกลางเดือนธ.ค. ส่วนสหภาพยุโรป(EU)อาจอนุมัติในครึ่งหลังของเดือนธ.ค. และจะเริ่มจัดส่งก่อนคริสต์มาสหากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี สถานการณ์ดังกล่าวกระตุ้นแรงขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จนกระทั่งราคาทองคำปรับตัวลงแรงแตะระดับต่ำสุดบริเวณ 1,862.92 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี มีแรงซื้อ Buy the dip สลับเข้ามาหนุนราคาทองคำเป็นระยะ ประกอบสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน จนแตะระดับต่ำสุดรอบกว่า 1 สัปดาห์ จากความวิตกเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของยอดผู้ติดCOVID-19 ซึ่งส่งผลให้หลายรัฐเพิ่มมาตรการจำกัดทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้นจึงเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยพยุงราคาทองคำเอาไว้ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -7.30 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตจากเฟดฟิลาเดลเฟีย, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจาก CB และยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ
ปัจจัยทางเทคนิค :
หากราคาทองคำยังคงพยายามกลับขึ้นไปทดสอบเหนือ 1,883-1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากสามารถยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ มีแนวโน้มขึ้นทดสอบ 1,899 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าไม่สามารถปรับขึ้นได้ จะเกิดแรงขายออกมาเป็นระยะ โดยแนวรับระยะสั้นจะอยู่ที่ 1,861 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวรับสำคัญจะอยู่บริเวณ 1,849 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
หากราคายังไม่สามารถผ่าน 1,883-1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้ อาจใช้วิธีการลดพอร์ตสถานะซื้อลง และสำหรับนักลงทุนที่เก็งกำไรฝั่งซื้อระยะสั้น ยังคงต้องตั้งจุดตัดขาดทุนไว้ล่วงหน้าให้ชัดเจน โดยรอเปิดสถานะซื้อในบริเวณ 1,861-1,849 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,849 ดอลลาร์ต่อออนซ์)
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 344.93 จุด วิตกโควิดฉุดเศรษฐกิจทรุด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (18 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ โดยล่าสุดนครนิวยอร์กซิตี้ประกาศปิดโรงเรียนรัฐบาลทุกแห่งหลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความกังวลในเรื่องดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,438.42 จุด ลดลง 344.93 จุด หรือ -1.16% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,567.79 จุด ลดลง 41.74 จุด หรือ -1.16% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,801.60 จุด ลดลง 97.74 จุด หรือ -0.82%
- (+) ดอลล์อ่อน นลท.ขายสกุลเงินปลอดภัยหลังวัคซีนโควิดคืบหน้า ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 พ.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนพากันเทขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังมีการเปิดเผยความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.11% สู่ระดับ 92.3153 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.81 เยน จากระดับ 104.20 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9102 ฟรังก์ จากระดับ 0.9105 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3047 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3084 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1864 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3280 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3258 ดอลลาร์
- (-) คาดบุคลากรทางการแพทย์สหรัฐได้วัคซีนโควิดเดือนหน้า หลังคืบหน้าในการผลิต มีการคาดการณ์กันว่าบุคลากรทางการแพทย์ของสหรัฐจะได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นครั้งแรกในเดือนหน้า หลังมีการเปิดเผยความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ และโมเดอร์นา อิงค์ ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ถือว่าเป็นสถิติเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตวัคซีนทั่วไปที่มักใช้เวลาราว 10 ปี โดยการพัฒนาวัคซีนที่เร็วที่สุดก่อนหน้านี้เป็นวัคซีนป้องกันไวรัสคางทูมที่ต้องใช้เวลานานกว่า 4 ปี
- (-) การจัดส่งวัคซีน”Pfizer”-“BioNTech”อาจเริ่มก่อนคริสต์มาส บริษัท Pfizer Inc และ BioNTech ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาระบุเมื่อวานนี้ว่า บริษัททั้ง 2 อาจได้รับอนุมัติการใช้วัคซีนโควิด-19 ฉุกเฉินจากสหรัฐและยุโรปในเดือนหน้า หลังผลการทดลองสุดท้ายแสดงว่า วัคซีนมีอัตราความสำเร็จ 95% และไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรง พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนมีความสอดคล้องกันในประชาชนช่วงอายุและชาติพันธ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกเมื่อพิจารณาถึงประเด็นที่ว่า โรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุและคนบางกลุ่ม เช่น คนผิวดำ เป็นส่วนใหญ่ นายอุกูร์ ซาฮิน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารบริษัท BioNTech ระบุว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) อาจอนุมัติการใช้วัคซีนฉุกเฉินภายในกลางเดือนธ.ค. สหภาพยุโรปอาจอนุมัติในครึ่งหลังของเดือนธ.ค. เขากล่าวว่า “หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ผมคิดว่าเราจะได้รับการอนุมัติในครึ่งหลังของเดือนธ.ค.และจะเริ่มจัดส่งก่อนคริสต์มาส แต่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกอย่างเป็นไปในเชิงบวกเท่านั้น”
- (-) “ไฟเซอร์” เผยผลทดลองขั้นสุดท้ายชี้วัคซีนต้านโควิดมีประสิทธิภาพ 95% ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี แถลงในวันนี้ว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นสุดท้ายบ่งชี้ว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งทั้งสองบริษัทพัฒนาร่วมกัน มีประสิทธิภาพ 95% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ไฟเซอร์ระบุว่า ผลการทดลองบ่งชี้ว่า วัคซีน BNT162b2 มีประสิทธิภาพอย่างมากในการป้องกันไวรัสโควิด-19 หลังการฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นเวลา 28 วัน โดยพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในอาสาสมัครทุกกลุ่ม แม้อยู่ในวัย เชื้อชาติ และชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน โดยมีผลข้างเคียงในระดับต่ำ นอกจากนี้ ผลการทดลองในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อโรคโควิด-19 พบว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า 94% ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ทางบริษัทจะยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนดังกล่าวต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในอีกไม่กี่วัน ขณะที่บริษัทคาดว่าจะผลิตวัคซีนจำนวน 50 ล้านโดสในปีนี้ และ 1,300 ล้านโดสในปีหน้า
- (-) สหรัฐเผยจำนวนผู้ขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่แล้ว สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 4% ในสัปดาห์ที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- (-) สหรัฐเผยตัวเลขเริ่มต้นสร้างบ้านสูงกว่าคาดในเดือนต.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 4.9% ในเดือนต.ค. สู่ระดับ 1.530 ล้านยูนิต จากระดับ 1.459 ล้านยูนิตในเดือนก.ย. นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.460 ล้านยูนิตในเดือนต.ค.