ทองคำจะเป็นขาลงหรือไม่ ? เมื่อสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง
นักลงทุนหลายคนน่าจะกำลังกังวลว่าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกหลายรอบ จะทำให้ทองคำเป็นขาลงเลยแน่ๆ และล่าสุดผลการประชุม FOMC (การประชุมของเฟด) ได้ข้อสรุปว่าเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และปีนี้น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 6 ครั้ง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในตอนนั้นตลาดการเงินผันผวนทั่วโลก โดยเฉพาะทองคำ ที่ร่วงลงไปทดสอบ 1900$ เล่นเอานักลงทุนทองคำตกใจกันไปตามๆกัน แต่อินเตอร์โกลด์เรามองว่าเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่เฟดจะพูดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นแข็งแกร่ง เพราะสิ่งที่เฟดต้องทำมากที่สุดในเวลานี้คือการให้ความเชื่อมั่นแก่ดอลลาร์ หลายครั้งที่คำพูดของเฟดก็ดูจะไม่ค่อยเป็นความจริงเท่าไหร่ เช่น ปีที่แล้วเฟดบอกตลอดว่าเงินเฟ้อไม่ได้รุนแรงอะไร แต่พอถึงเวลาจริงๆ ปรากฏว่าเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี คือเฟดเค้ารู้อยู่แก่ใจนั่นแหละเพียงแต่เค้าไม่อยากจะพูดความจริง บางครั้งการพูดความจริงก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นหรืออาจแย่ลงด้วยซ้ำ
วันนี้อินเตอร์โกลด์จะมาเล่าให้ฟัง ถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ของเฟดจะเกิดขึ้นตามที่เฟดพูดจริงหรือไม่ เชื่อว่าหากเป็นนักลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนในตราสารอะไรก็แล้วแต่ หากได้อ่านจนจบคิดว่าจะเป็นประโยชน์และนำไปต่อยอดในการลงทุนของตัวเองได้อย่างแน่นอน..
จากรูปเราจะเห็นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลตามการใช้เงินอัดฉีดเยอะๆ ระดับที่ขาดดุลเกิน 7.5% ของ GDP เฟดมักจะไม่อยากขึ้นดอกเบี้ย โดยไม่สนว่าเงินเฟ้อจะสูงเพียงใด ในปี 1935-1950 เป็นช่วงที่เงินเฟ้อ
สูงมากๆ โดยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 14% ต่อปีเลยทีเดียว ขณะเดียวกันเราจะเห็นว่าในปี 1944 เป็นช่วงที่รัฐบาลขาดดุลมหาศาล และในตอนนั้นเฟดต้องเลือกว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อต้านเงินเฟ้อดีหรือไม่ ผลลัพธ์ก็คือเฟดเลือกที่จะทำ Yield curve control เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลนั่นเอง เนื่องจากรัฐต้องใช้เงินจำนวนมาก ก็คือต้องกู้เงินจำนวนมากนั่นแหละ แล้วเฟดจะไปขึ้นดอกเบี้ยให้ลูกหนี้หรือรัฐบาลตัวเองจ่ายหนี้ไม่ไหวได้อย่างไร
แต่ในทางกลับกัน ช่วงปี 1977 เงินเฟ้อสูงระดับ 13% เช่นกัน แต่ในตอนนั้นรัฐบาลไม่ได้ขาดดุลมากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับ GDP ในตอนนั้นเราจะเห็นว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยจนอยู่ในระดับ 15% ต่อปี เพื่อต่อต้านเงินเฟ้อ
โดยสรุปก็คือเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้เยอะๆก็ต่อเมื่อรัฐบาลขาดดุลไม่เกิน 7.5% เทียบกับ GDP หรือพูดง่ายๆก็คือรัฐไม่ได้มีรายจ่ายเยอะเกินไปเมื่อเทียบกับรายรับ ซึ่งคราวนี้เราลองมาวิเคราะห์กันต่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะต้องใช้เงินปริมาณมากๆหรือไม่ในอนาคต
ทุกวันนี้อินเตอร์โกลด์มองว่าโลกของเราจะไม่กลับไปเป็นหนึ่งเดียวกันอีกแล้วครับ หากมองจะอดีตโลกจะสงบก็ต่อเมื่อมีผู้มีอำนาจสูงสุดเพียงคนเดียว แน่นอนครับ หลายปีที่ผ่านมามหาอำนาจของโลกก็คือสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าของระบบการเงินของโลกจนทำให้โลกต้องใช้ดอลลาร์ในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ แต่มาวันนี้เราเห็นขั้วอำนาจอย่างจีนขึ้นมาท้าทายสหรัฐฯ ในแง่ของเศรษฐกิจถือว่าใหญ่มากๆ ถึงแม้ GDP จะยังไม่เท่าสหรัฐที่เป็นเบอร์ 1 ก็ตาม แต่อัตราการเติบโตของจีนเรียกได้ว่าสูงมากอย่างที่ไม่เคยมีประเทศไหนทำได้มาก่อนตลอด 10 ปี ที่ผ่านมาจนทำให้เกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯเห็นถึงภัยคุกคามต่อเงินดอลลาร์ คิดง่ายๆ สมมุติปล่อยให้จีนเติบโตแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
จีนจะกินส่วนแบ่งการค้าไปเรื่อย ถึงจุดนึงจีนคงสงสัยว่าทำไมเราต้องใช้ดอลลาร์ในการแลกเปลี่ยน? ในเมื่อทุกคนซื้อขายกับจีนเป็นหลัก งั้นเรามาใช้หยวนแทนจะง่ายกว่าไหม และนี่คือสิ่งที่สหรัฐไม่ต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะจะเป็นการลดความต้องการใช้ดอลลาร์ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าแล้วมันจะมีความสำคัญยังไง ความได้เปรียบของดอลลาร์ในการเป็นสกุลเงินหลักของโลกแต่เพียงผู้เดียวคือทำให้สหรัฐฯสามารถพิมพ์เงินออกมาใช้ได้เยอะมากๆ หรือจะบอกว่าพิมพ์เท่าไหร่ก็ได้ก็ไม่ได้เป็นคำพูดที่ดูเกินเลย
ล่าสุดเราเห็นธนาคารในรัสเซียประกาศให้คนรัสเซียสามารถฝากเงินเป็นสกุลเงินหยวน และยิ่งไปกว่านั้นซาอุดีอาระเบียประกาศจะใช้เงินหยวนในการซื้อขายน้ำมันแทนดอลลาร์ ถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่สหรัฐฯไม่อยากเห็น และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามระหว่างหยวนกับดอลลาร์ อีกไม่นานเราคงเป็นการเคลื่อนไหวของสหรัฐอย่างแน่นอน ความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจทั้ง 2 จะดำเนินต่อไป สิ่งที่จะตามมาในสภาวะแบบนี้ก็คือเศรษฐกิจจะถดถอย รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้น เพื่อซื้อใจประชาชนในยามยากลำบาก
มาถึงตอนนี้เราได้ข้อสรุปแล้วว่าแนวโน้มความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจของโลกกำลังทวีความเข้มข้นขึ้น การค้าจะไม่เสรี และจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย รัฐจะต้องการใช้เงินจำนวนมากไม่ว่าจะเพื่อการสงครามหรือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม ผลลัพธ์สุดท้ายคือการขาดดุลมหาศาลเมื่อเทียบกับ GDP และมันจะทำให้เฟดไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อได้จริงๆ สุดท้ายเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นอีกจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ และในวันนั้นคาดว่าเฟ้อจะใช้ yield curve control หรือก็คือการตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้นั้นเอง ในสภาวะที่เงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจถดถอย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ สินทรัพย์ที่ได้เปรียบคือ เงินสด(แต่ต้องกระจายถือหลายสกุลนะ เพราะสุดท้ายเราไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แต่ตอนนี้น้ำหนักดอลลาร์ก็เป็นต่ออยู่ดี), สินค้าโภคภัณฑ์พวกอาหารก็น่าสนใจ, หุ้นที่ค้าขายอาหารถึงไม่ขึ้นแต่มันก็ไม่ลงหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจริงๆ และทองคำอันนี้แน่นอนอยู่แล้วในระยะยาว หากนักลงทุนกระจายความเสี่ยงได้เหมาะสม หากเกิดวิกฤติจริง พอร์ตเราจะไม่กระทบมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขายสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อเก็บสินทรัพย์เสี่ยงที่กำลังลดราคากระหน่ำซัมเมอร์เซลล์กัน
โดย : InterGold