ราคาทองวันนี้ ข่าวทองคำ

ทองคำนิวยอร์กปิดลบ 60 เซนต์ บอนด์ยีลด์-ข้อมูลเศรษฐกิจแกร่งกดดันราคา

672

- Advertisement -

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (30 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขายสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยออกมา หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังส่งผลกดดันราคาสัญญาทองคำลงด้วย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 60 เซนต์ หรือ 0.03% ปิดที่ 1,767.7 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์นี้ ลดลง 0.6% แต่ในเดือนเม.ย. สัญญาทองคำ ปรับตัวขึ้นราว 3%

  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 21.2 เซนต์ หรือ 0.81% ปิดที่ 25.873 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 7.6 ดอลลาร์ หรือ 0.63% ปิดที่ 1,205.2 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 5.10 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 2,953.70 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.629% เมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร แต่จะเทขายทองในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย

นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐได้ลดความสนใจของสัญญาทองคำในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยด้วย โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 88.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐในเดือนมี.ค.2563 จากระดับ 84.9 ในเดือนมี.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 87.0

- Advertisement -

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด พุ่งขึ้น 0.9% ในไตรมาส 1/2564 เมื่อเทียบรายไตรมาส สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.7% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในไตรมาส 4/2563 และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี ECI ปรับตัวขึ้น 2.6% จากระดับ 2.5% ในไตรมาส 4/2563

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ดีดตัวขึ้น 2.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับตัวขึ้น 1.5% ในเดือนก.พ. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 1.8% ในเดือนมี.ค.

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้น 4.2% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.1% หลังจากลดลง 1.0% ในเดือนก.พ. นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลพุ่งขึ้น 21.2% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 20.3% หลังจากลดลง 7.0% ในเดือนก.พ.

โดย : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ค. 64)

- Advertisement -

Leave a Reply